วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อาเซี่ยนบทที่7-8





บทที่ 7

ประชาคมการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน

( ASEAN Political – Security Community: APSC)


ความเป็นมา

ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน เป็นเสาหลักหนึ่งในสามเสาหลัก หลังจากผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้เห็นชอบให้จัดตั้งประชาคมอาเซียน( ASEAN Community) ภายในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) โดยกระบวนการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน มีรากฐานมาจากความร่วมมือและความ ตกลงในด้านการเมืองและความมั่นคง ที่ประชาคมอาเซียนได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ได้แก่
1. สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. สนธิสัญญาว่าด้วยการทำให้ภูมิภาคอาเซียน เป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง
3. สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
4. การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
การเป็นประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนจะช่วยให้ภูมิภาคมีเสถียรภาพอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ
1 การสร้างค่านิยมและแนวปฏิบัติร่วมกันของอาเซียน เช่น ค่านิยมการไม่ใช้กำลัง และการไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์
2. เสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันการเผชิญภัยคุกคามในด้านความมั่นคงในรูปแบบต่าง ๆ
3. เพื่อทำความสัมพันธ์กับประชาคมโลก
4. เพื่อสร้างกลไกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก
ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ที่อำเภอชะอำและอำเภอหัวหิน ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 (ค.ศ.2009) ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ได้รับรองพิมพ์เขียวหรือแผนการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน (ASEAN Political – Security Community Blueprint) ซึ่งจะกำหนดกรอบและกิจกรรมที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนภายในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015)
แผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC Blueprint)
จากหลักการที่กล่าวมาแล้วพอสรุปได้ว่า ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนประกอบด้วยคุณลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ
1. ประชาคมมีกติกาและมีการพัฒนาค่านิยมและบรรทัดฐานร่วมกัน
2. ประชาคมที่ทำให้ภูมิภาคเป็นเอกภาพ สงบสุข แข็งแกร่งและรับผิดชอบร่วมกัน
3. ประชาคมที่ทำให้ภูมิภาคมีพลวัตร และมองไปยังโลกภายนอกที่มีการรวมตัวและลักษณะพึ่งพาซึ่งกันและกัน
ก. ประชาคมที่มีกฎเกณฑ์และบรรทัดฐาน และค่านิยมร่วมกัน
1. ความร่วมมือด้านการพัฒนาทางการเมือง
1.1 ส่งเสริมความเข้าใจและยอมรับในระบอบการเมืองต่าง ๆ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของประเทศสมาชิก
1.2 ปูทางสำหรับกรอบองค์กรเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการไหลเวียนของข้อมูลโดยเสรี เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในระหว่างประเทศสมาชิก
1.3 จัดทำแผนงานเพื่อสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อเสริมสร้างหลักนิติธรรม ระบบยุติธรรมและโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมาย
1.4 ส่งเสริมธรรมมาภิบาล
1.5 ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
1.6 เน้นการมีส่วนร่วมขององค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียนในการขับเคลื่อนความคิดริเริ่มเพื่อพัฒนาการเมืองของอาเซียน
1.7 ป้องกันและปราบปรามการทุจริต
1.8 ส่งเสริมหลักประชาธิปไตย
1.9 ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
2. การสร้างและแบ่งปันเกณฑ์ร่วม
2.1 ปรับกรอบสถาบันของอาเซียนให้เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียน
2.2 เสริมสร้างความร่วมมือภายใต้สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน
2.3 ส่งเสริมให้มีการดำเนินการอย่างสมบูรณ์ตามปฏิญญาว่าด้วยทะเลจีนใต้เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้
2.4 ส่งเสริมให้มีความมั่นใจว่ามีการดำเนินการตามสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคอาเซียน
2.5 ส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลอาเซียน
ข. ภูมิภาคมีความเป็นเอกภาพ สงบสุข และมีความแข็งแกร่งพร้อมทั้งมีความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติ
1. ป้องกันความขัดแย้ง เสริมสร้างมาตรการการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ
1.1 เสริมสร้างมาตรการการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ
1.2 ส่งเสริมความโปร่งใส และความเข้าใจในนโยบายกลาโหมและมุมมองด้านความมั่นคง
1.3 สร้างกรอบการดำเนินการทางสถาบันที่จำเป็นเพื่อเสริมสร้างกระบวนการภายใต้กรอบการ
ประชุม ARF เพื่อสนับสนุนประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน
1.4 ส่งเสริมความพยายามในการธำรงความเคารพในบูรณาภาพแห่งดินแดนอธิปไตยและเอกภาพของประเทศสมาชิก
1.5 ส่งเสริมการพัฒนาบรรทัดฐาน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการป้องกันทางทหารและ
ความมั่นคงอาเซียน
2. การแก้ไขความขัดแย้งและระงับข้อพิพาทโดยสันติ
2.1 พัฒนารูปแบบการระงับข้อพิพาทโดยสันติเพิ่มเติมจากรูปแบบที่มีอยู่และพิจารณาเสริมสร้าง
รูปแบบดังกล่าวให้เข้มแข็งขึ้นด้วยกลไกเพิ่มเติมตามที่จำเป็น
2.2 เสริมสร้างกิจกรรมการค้นคว้า วิจัยเรื่องสันติภาพ การจัดการความขัดแย้งและแก้ไขความ
ขัดแย้ง
2.3 ส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพ
3. การสร้างสันติภาพหลังความขัดแย้ง
3.1 เสริมสร้างความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน
3.2 ดำเนินการตามโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสร้างขีดความสามารถในพื้นที่หลังความ ขัดแย้ง
3.3 เพิ่มความร่วมมือในด้านการไกล่เกลี่ย ประนีประนอมและค่านิยมที่มีสันติภาพเป็นศูนย์กลาง
4. ประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่
4.1 เสริมสร้างความร่วมมือในการรับมือประเด็นปัญหา ความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ
4.2 เพิ่มความพยายามในการต่อต้านการก่อการร้ายโดยให้สัตยาบันโดยเร็วและดำเนินการอย่างเต็มที่ตามอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย
5. เสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียน ด้านการจัดการภัยพิบัติและการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน
6. การตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพและทันกาล ต่อประเด็นเร่งด่วนหรือสถานการณ์วิกฤติที่ส่งผลกระทบต่ออาเซียน
ค. ภูมิภาคที่มีพลวัตรและมองไปยังโลกภายนอก ในโลกที่มีการรวมตัวและพึ่งพาอาศัยกันยิ่งขึ้น
1. ส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เป็นศูนย์กลางในความร่วมมือระดับภูมิภาคและการสร้างประชาคม
2. ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่เพิ่มพูนกับประเทศภายนอกอาเซียน
3. เสริมสร้างการปรึกษาหารือ และความร่วมมือในประเด็นพหุภาคีที่เป็นความกังวลร่วมกัน


การดำเนินการและการทบทวนการดำเนินการตามแผนงานของ APSC
1. กลไกในการดำเนินงาน
1.1 ประเทศสมาชิกบูรณาการโครงการและกิจกรรมของแผนเข้าสู่แผนพัฒนาแห่งชาติ
1.2 ประชุมเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส เพื่อให้มั่นใจว่ามีการดำเนินการในแผน
1.3 ประชุมประสานงานสำหรับแผนปฏิบัติการ ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASCCO)
1.4 คณะมนตรีประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (APSC) รับผิดชอบในการดำเนินงานใน
ภาพรวมของแผนงาน
1.5 รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงาน APSC ต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนทุกปี
2. การระดมทรัพยากร สามารถระดมได้จากแหล่งต่าง ๆ ดังนี้
2.1 จากประเทศสมาชิกอาเซียน
2.2 กองทุนพัฒนาอาเซียน (ADF)
2.3 ประเทศคู่เจรจา
2.4 ประเทศผู้บริจาค
2.5 องค์การระหว่างประเทศ
2.6 ภาคเอกชนและองค์กรที่มิใช่รัฐ
3. ยุทธศาสตร์การสื่อสาร
มีการพัฒนาและเริ่มใช้แผนการสื่อสารระดับประเทศและภูมิภาค ซึ่งนอกจากจะสร้างความตระหนักของสาธารณะต่อข้อริเริ่มต่าง ๆ ยังช่วยให้ผู้มีส่วนได้เสียได้มีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว
4. กลไกในการทบทวน
แผนงานของ APSC ได้รับการทบทวนและประเมินเพื่อให้มั่นใจว่ากิจกรรมทั้งหมดสอดคล้องและรองรับต่อความจำเป็น และประเด็นที่สำคัญของสมาคมอาเซียน โดยคำนึงถึงพลวัตรที่เปลี่ยนแปลงของภูมิภาคและบริบทของโลก การทบทวนและประเมินกระทำทุกสองปี โดยประสานกับสำนักเลขาธิการอาเซียน ผลการทบทวนและประเมินจะรายงานต่อการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน โดยเลขาธิการอาเซียนผ่านคณะมนตรี APSC









บทที่ 8

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

(ASEAN Economic Community : AEC)

ความเป็นมา
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) เป็นหนึ่งในสามเสาหลักของสมาคมอาเซียน (ASEAN Community) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้มีความมั่นคงและมั่งคั่งและสามารถแข่งกับภูมิภาคอื่นได้ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1. ให้มีการไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้า บริการ การลงทุน การเงิน
2. ให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว
3. ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกใหม่ (Cambodia Lao Myanmar Vietnam : CLMV )
4. ส่งเสริมนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และพัฒนาโครงสร้างด้านพื้นฐาน ด้านคมนาคม เกษตร พลังงาน การศึกษา การท่องเที่ยว และการพัฒนาฝีมือแรงงาน
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนได้พัฒนามาตลอด แต่เริ่มมีความชัดเจนในการประชุมผู้นำ สุดยอดอาเซียนครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 (ค.ศ.2002) ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา มีผู้นำอาเซียนเห็นชอบให้อาเซียนกำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อเป็นแนวทางไปสู่เป้าหมายอย่างชัดเจน ได้แก่ การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีการพัฒนาที่สำคัญ ดังนี้

ตารางที่ 9 ตารางแสดงวิวัฒนาการสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน
ปี การดำเนินการ
พ.ศ.2546
(ค.ศ.2003) ผู้นำอาเซียนประกาศแถลงการณ์ Bali Concord ॥ เห็นชอบที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ซึ่งประกอบด้วยสามเสาหลัก ได้แก่ ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ภายในปี ค.ศ.2020
พ.ศ.2547
(ค.ศ.2004) ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียนและรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามในพิธีสารรายฉบับ รวม 11 ฉบับ ซึ่งมี Roadmap เพื่อการรวมกลุ่มสาขาสำคัญเป็นภาคผนวกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำร่องการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจใน 11 สาขาสำคัญก่อน (เกษตร/ประมง/ผลิตภัณฑ์ไม้/ผลิตภัณฑ์ยาง/สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม/ยานยนต์/อิเล็กทรอนิกส์/สุขภาพ/เทคโนโลยีสารสนเทศ/การท่องเที่ยว/การบิน)
พ.ศ.2548
(ค.ศ.2005) เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนพิจารณาทบทวนปรับปรุงแผนงานการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียนในระยะที่ 2 เพื่อปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพและรวมข้อเสนอของภาคเอกชน
พ.ศ.2549
(ค.ศ.2006) รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียนและพิธีสารว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญ (ฉบับแก้ไข)
มกราคม พ.ศ.2550
(ค.ศ.2007) ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาเซบูว่าด้วยการเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี ค.ศ.2015 เพื่อเร่งรัดเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้เร็วขึ้นอีก 5 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ในปี ค.ศ.2020 ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาเซบูว่าด้วยแผนแม่บทกฎบัตรอาเซียน เพื่อสร้างนิติฐานะให้อาเซียนและปรับปรุงกลไก/กระบวนการดำเนินงานภายในของอาเซียน เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน
สิงหาคม พ.ศ.2550
(ค.ศ.2007) รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามในพิธีสารว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาโลจิสติกส์ของอาเซียน โดยมี Roadmap เพื่อการรวมกลุ่มสาขาโลจิสติกส์เป็นภาคผนวก ซึ่งจะเป็นสาขาสำคัญลำดับที่ 12 ที่อาเซียนจะเร่งรัดการรวมกลุ่มให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
พฤศจิกายน พ.ศ.2550
(ค.ศ.2007) ผู้นำอาเซียนลงนามในปฏิญญาว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งมีแผนการดำเนินงาน (AEC Blueprint) และตารางเวลาดำเนินงาน (Strategic Schedule) เป็นเอกสารภาคผนวก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอาเซียนให้เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมการรวมตัวของอาเซียนเข้ากับประชาคมโลก
พ.ศ.2551
(ค.ศ.2008) รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้เห็นชอบให้จัดทำแผนงานติดตามประเมินผลการดำเนินงาน (AEC Scorecard) เพื่อวัดผลการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ภายใต้ AEC Blueprint และให้มีการรายงานผลต่อผู้นำรับทราบในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นประจำทุกปี

พิมพ์เขียวเพื่อการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint)
ในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2540 (ค.ศ.1997) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ผู้นำอาเซียนได้ประกาศวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 (ASEAN Vision2020) เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงภูมิภาคอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่มีความมั่งคั่งและมั่นคง ต่อมาในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 9 เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2546 (ค.ศ.2003) ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ผู้นำอาเซียนได้ประกาศแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เพื่อตั้งเป้าหมายการดำเนินการไปสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020) เพื่อครอบคลุม 3 เสาหลัก ได้แก่ ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
การประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 11 เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2548 (ค.ศ.2005) ณ ประเทศมาเลเซีย ผู้นำอาเซียนได้มอบหมายให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน หารือเรื่องความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้เสร็จในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) เพื่อให้เร็วขึ้นกว่าเดิมเป็นเวลา 5 ปี ดังนั้นในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2549 (ค.ศ.2006) ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดทำพิมพ์เขียวเพื่อให้การจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้สำเร็จในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015)
ในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 12 เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้นำอาเซียนได้ประกาศเจตนารมณ์ตามแถลงการณ์เซบูที่จะเร่งจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียน ภายในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) และการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 13 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) ที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยแผนการดำเนินงาน (AEC Blueprint) และตารางเวลาดำเนินงาน (Strategic Schedule)
วัตถุประสงค์ในการจัดทำ AEC Blueprint
1. เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจให้ชัดเจนตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด จนบรรลุเป้าหมายของ AEC ในปี 2558 (ค.ศ.2015)
2. เพื่อสร้างพันธสัญญาระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อที่จะดำเนินงานไปสู้เป้าหมายดังกล่าวร่วมกัน
องค์ประกอบสำคัญของ AEC Blueprint
1. การเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตร่วม โดยส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ การลงทุน แรงงานที่มีฝีมือและการเคลื่อนย้ายเงินให้เสรีมากขึ้น
2. การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การส่งเสริมนโยบายการแข่งขัน นโยบายภาษี การขนส่ง เทคโนโลยีและรวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา
3. การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค ส่งเสริมการรวมกลุ่มของสมาชิก ลดช่องว่างของการพัฒนาระหว่างสมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่รวมถึงการสนับสนุนพัฒนา SMEs ด้วย
4. การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มเข้ากับประชาคมโลก เป็นการประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียน เช่น การจัดทำเขตการค้าเสรี สร้างเครือข่ายด้านการผลิตและการจำหน่าย
เครื่องมือติดตามวัดผลการดำเนินงาน (AEC Scorecard)
ในการดำเนินงานตาม AEC Blueprint ของแต่ละประเทศให้ใช้เครื่องมือติดตามวัดผลการดำเนินงาน (AEC Scorecard) โดยเสนอให้ผู้นำอาเซียนทราบในการประชุมสุดยอดอาเซียนทุก ๆ ปี
คุณลักษณะที่สำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีดังนี้
1. การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว
2. การเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง
3. การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเท่าเทียมกัน
4. การเป็นภูมิภาคที่บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างสมบูรณ์
การดำเนินการไปสู่คุณลักษณะในแต่ละด้าน
1. ด้านการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ
1.1 การเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรี
1.1.1 เป็นการส่งเสริมไปสู่จุดมุ่งหมายของการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว
1.1.2 ดำเนินการผ่านเขตการค้าเสรี
1.1.3 ปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยอัตราภาษีพิเศษ (ความตกลง SEPT)
1.1.4 ยกเลิกภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าภายในอาเซียน
1.1.5 ยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี
1.1.6 ใช้กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin: ROO) สนองการเปลี่ยนแปลงการผลิตของโลก
1.1.7 อำนวยความสะดวกในทางการค้า กระบวนการ ระเบียบพิธีการ ฯลฯ
1.1.8 การรวมกลุ่มทางศุลกากร
1.1.9 อำนวยความสะดวกในด้านศุลกากร
1.1.10 ปรับมาตรฐานและขจัดอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า เช่น ระบบมาตรฐานคุณภาพ
1.2 การเคลื่อนย้ายบริการอย่างเสรี
1.2.1 เปิดเสรีการค้าบริการ เพื่อให้ผู้ให้บริการสามารถเปิดบริการในประเทศสมาชิกได้
1.2.2 เปิดการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายบุคลากรในภูมิภาค
1.2.3 เปิดเสรีสำหรับสาขาบริการด้านการเงิน
1.3 การเคลื่อนย้ายการลงทุนอย่างเสรี
1.3.1 นโยบายลงทุนอย่างเสรีและเปิดกว้าง
1.3.2 ให้ความร่วมมือในด้านการลงทุน
1.3.3 การลงทุนตามข้อตกลงเปิดเสรีและปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ
1.3.4 สนับสนุนการรวมกลุ่มในภูมิภาค
1.3.5 ให้การส่งเสริมความคุ้มครองผู้ลงทุนและลงทุนภายใต้ข้อตกลง
1.3.6 กฎระเบียบ กฎเกณฑ์ นโยบายและขั้นตอนการลงทุนมีความโปร่งใส
1.3.7 ส่งเสริมให้อาเซียนเป็นแหล่งรวมของการลงทุน
1.3.8 ทยอยเปิดเสรีการลงทุนของประเทศสมาชิก
1.4 การเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรียิ่งขึ้น
1.4.1 เสริมสร้างความแข็งแกร่งของตลาดทุนอาเซียน
1.4.2 ยินยอมให้มีการเคลื่อนย้ายทุนอย่างเสรีมากขึ้น
1.5 การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี
1.5.1 อำนวยความสะดวกในการเดินทางของแรงงานฝีมือ
1.6 การรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียน
1.6.1 สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มสาขาสำคัญ
1.6.2 เร่งรัดการรวมกลุ่มสาขาสำคัญโดยประเทศสมาชิกที่ได้ถูกระบุไว้
1.6.3 เพิ่มประสิทธิภาพของสาขาสำคัญ
1.7 ความร่วมมือด้านอาหาร เกษตร และป้าไม้
1.7.1 ยกระดับการค้าทั้งภายในและภายนอก และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านอาหาร เกษตรและป่าไม้
1.7.2 ส่งเสริมความร่วมมือในการถ่ายโอนเทคโนโลยีระหว่างอาเซียนกับองค์กระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค ระดับภาคเอกชน
1.7.3 ส่งเสริมสหกรณ์การเกษตรของอาเซียน
2. การนำไปสู่ภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง
2.1 นโยบายการแข่งขัน ส่งเสริมให้มีนโยบายการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
2.2 การคุ้มครองผู้บริโภค มาตรการการแข่งขันทั้งหลายต้องตระหนักถึงความสำคัญของผู้บริโภค
2.3 สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
2.3.1 นโยบายทรัพย์สินทางปัญญาต้องผลักดันไปสู่การสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมสติปัญญา และศิลปะ การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
2.3.2 นโยบายทรัพย์สินทางปัญญา ต้องก่อให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการสร้างสรรค์และการประดิษฐ์ที่รุ่งโรจน์
2.3.3 สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ปฏิบัติตามแนวทางแผนปฏิบัติด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน (ASEAN IPR Action Plan 2004-2010) และแผนงานความร่วมมืออาเซียนด้านลิขสิทธิ์ (ASEAN Cooperation on Copyrights)
2.4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
2.4.1 ความร่วมมือในด้านการขนส่ง เพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง
2.4.2 ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการขนส่ง
2.4.3 อำนวยความสะดวกตามแผนปฏิบัติการด้านการขนส่งอาเซียน (ATAP 2005-2010)
2.4.4 เชื่อมโยงการขนส่งทางบกในกลุ่มประชาคมอาเซียน
2.4.5 รวมกลุ่มการขนส่งทางน้ำและทางอากาศ
2.4.6 สร้างความปลอดภัยและเชื่อมโยงต่อกันในด้านพื้นฐานสารสนเทศ (Information Infrastructure)
2.4.7 พัฒนาการเชื่อมต่อความเร็วสูง (Hi-Speed inter-Connection) ระหว่างโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศแห่งชาติ (National Information Infrastructure : NII) ของทุกประเทศสมาชิกอาเซียน
2.4.8 ความร่วมมือด้านพลังงาน
2.4.9 พัฒนาโครงสร้างเครือข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน
2.4.10 ร่วมกันใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาอุณหภูมิโลก
2.4.11 ความร่วมมือในด้านการทำเหมืองแร่
2.4.12 ร่วมกันสนับสนุนด้านการเงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ
2.5 ภาษีอากร ดำเนินการให้ประเทศสมาชิกทำตามข้อตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน
2.6 พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ วางนโยบายและโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายในอาเซียน
3. การพัฒนาเศรษฐกิจอย่าเท่าเทียมกัน
3.1 การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยพัฒนาอย่างเหมาะสมและหลากหลายของประเทศสมาชิก พัฒนาขีดความสามารถในแข่งขัน สร้างความยืดหยุ่นในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดจากเศรษฐกิจมหภาค ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมของรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาภูมิภาคอาเซียนในภาพรวม
3.2 ความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน
3.2.1 ร่วมกันในด้านการพัฒนาในด้านเทคนิค
3.2.2 ริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative For ASEAN Integration : IAI)
3.2.3 ริเริ่มปรับตัวเพื่อรองรับความท้าทายจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน
4. การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก
4.1 แนวทางการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันต่อปฏิสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับภายนอก ทั้งในด้านการจัดทำเขตการค้าเสรี (FTAs) และความตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPs)
4.2 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในเครือข่ายอุปทานของโลก
การเร่งรัดการรวมกลุ่ม 12 สาขาสำคัญของอาเซียน (12 Priority Integration Sectors)
12 สาขาสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกเป็นผู้ประสานงานหลักดังนี้
ตารางที่ 10 ตารางแสดงสาขาสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกเป็นผู้ประสานงานหลัก
ลำดับที่ สาขา ประเทศผู้ประสานงาน
1 ผลิตภัณฑ์ไม้ อินโดนีเซีย
2 ผลิตภัณฑ์ยานยนต์
3 ผลิตภัณฑ์ยาง มาเลเซีย
4 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
5 ผลิตภัณฑ์เกษตร พม่า
6 ผลิตภัณฑ์ประมง
7 อิเล็กทรอนิกส์ ฟิลิปปินส์
8 เทคโนโลยีสารสนเทศ สิงคโปร์
9 สุขภาพ
10 การท่องเที่ยว ไทย
11 การบิน
12 โลจิสติกส์ เวียดนาม

วัตถุประสงค์ในการรวมกลุ่ม 12 สาขาสำคัญของอาเซียนทางเศรษฐกิจ
1. เพื่อส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการในสาขาต่าง ๆ ได้อย่างเสรี
2. ส่งเสริมการเป็นฐานการผลิตร่วมของอาเซียน
3. สร้างการรวมกลุ่มด้านการผลิตและการจัดซื้อวัตถุดิบ
4. เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การดำเนินการภายใต้แผนงานการรวมกลุ่ม 12 สาขาสำคัญ มีดังนี้
1. การเร่งรัดลดภาษีสินค้าใน 9 สาขาหลัก ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกษตร ผลิตภัณฑ์ประมง ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศและสาขาสุขภาพ โดยเร่งรัดจากเดิม คือ
1.1 ประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ กำหนดการเร่งลดภาษีให้เสร็จภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) จากเดิม 1 มกราคม พ.ศ.2553 (ค.ศ.2010)
1.2 ประเทศสมาชิกใหม่ (CLMV) กำหนดการเร่งลดภาษีให้เสร็จภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2555 (ค.ศ.2012) จากเดิม 1 มกราคม พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015)
2. การขจัดมาตรการที่มิใช่ภาษี อาเซียนได้จัดทำหลักเกณฑ์ (Criteria) การจำแนกมาตรการที่มิใช่ภาษีของประเทศสมาชิกแล้ว ซึ่งใช้พื้นฐานหลักเกณฑ์การจำแนกตาม WTO และได้เห็นชอบแผนงานการขจัดมาตรการที่มิใช่ภาษี (Work Programme on Elimination of NTBs) ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 5 ประเทศ มีกำหนดที่จะขจัดมาตรการที่มิใช่ภาษีทั้งหมดภายในปี พ.ศ.2553 (ค.ศ.2010) สำหรับประเทศฟิลิปปินส์ภายในปี พ.ศ.2555 (ค.ศ.2012)และประเทศ CLMV ภายในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015)
3. การปรับปรุงว่าด้วยกฎแหล่งกำเนิดสินค้าให้มีความโปร่งใส มีมาตรฐานที่เป็นสากล และอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคเอกชนมากขึ้น ขณะนี้นอกเหนือจากกฎ 40% Value-added content แล้ว อาเซียนได้พัฒนากฎแหล่งกำเนิดสินค้าโดยวิธีแปรสภาพอย่างเพียงพอ (Substantial transformation) เพื่อเป็นทางเลือกในการคำนวณแหล่งกำเนิดสินค้าให้กับสินค้าสิ่งทอ อะลูมิเนียม เหล็ก และผลิตภัณฑ์ไม้แล้ว และได้เริ่มใช้วิธีการคิดคำนวณแหล่งกำเนิดสินค้าแบบสะสมบางส่วน (Partial Cumulation ROO) เพื่อให้การคำนวณสัดส่วนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยสินค้ามีสัดส่วนการผลิตภายในขั้นต่ำร้อยละ 20 สามารถนำมานับรวมในการคิดแหล่งกำเนิดสินค้าแบบสะสมของอาเซียน เพื่อรับสิทธิประโยชน์ของอาฟตา
4. การค้าบริการ อาเซียนได้เห็นชอบเป้าหมายการเปิดการค้าเสรีสาขาบริการสำคัญ 5 สาขา (Priority Services Sectors) ได้แก่ สาขาการท่องเที่ยว E-ASEAN (เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์) สาขาสุขภาพและสาขาการบินภายในปี พ.ศ.2553 (ค.ศ.2010) ส่วนสาขาโลจิสติกส์ ภายในปีพ.ศ.2555 (ค.ศ.2012) สำหรับสาขาบริการอื่น ๆ ได้กำหนดเป้าหมายไว้ภายในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) ซึ่งจะได้เร่งเจรจาและจัดทำข้อผูกพันในการเปิดตลาดในแต่ละรอบของการเจรจาทั้งในด้านการเข้าสู่ตลาด (Market Access) และการให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment : NT)
อาเซียนได้ดำเนินการเจรจาลดข้อจำกัดด้านการค้าบริการระหว่างกันและการจัดทำข้อผูกพันเปิดตลาดมาแล้วทั้งสิ้นรวม 7 ชุด โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามพิธีสารอนุมัติข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการ ชุดที่ 7 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 (ค.ศ.2009) ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ซึ่งในส่วนของไทยได้ผูกพันเปิดตลาดทั้งหมด 143 รายการ ครอบคลุมสาขาบริการหลัก อาทิเช่น บริการธุรกิจ (เช่น วิชาชีพวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และบัญชี เป็นต้น) คอมพิวเตอร์และการสื่อสาร การก่อสร้าง การจัดจำหน่าย (เช่น บริการค้าส่งเครื่องกีฬา และ บริการแฟรนไชส์ เป็นต้น) การศึกษาในทุกระดับ บริการด้านสุขภาพ บริการด้านสิ่งแวดล้อมและบริการท่องเที่ยว เป็นต้น อย่างไรก็ดี ไทยยังคงสงวนเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เป็นไปตามกรอบกฎหมายไทย เช่น อนุญาตให้ต่างชาติจากสมาชิกอาเซียนมีสิทธิถือหุ้นในนิติบุคคลที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยได้ไม่เกินร้อยละ 49 ขณะนี้อาเซียนอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำข้อผูกพันเปิดตลาดชุดที่ 8 ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2553 (ค.ศ.2010) และยังคงต้องเจรจาเพื่อทยอยเปิดเสรีสาขาบริการอื่น ๆ เพิ่มเติมจนบรรลุเป้าหมายการเปิดเสรีอย่างครบถ้วนในปี 2558 (ค.ศ.2015)
5. การลงทุน ส่งเสริมการลงทุนภายในภูมิภาคโดยการร่วมลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และสร้างเครือข่ายด้านการลงทุนอาเซียน ขณะนี้ได้จัดทำรายชื่อเขตการส่งเสริมการลงทุนพิเศษ และเขตนิคมอุตสาหกรรมในอาเซียนแล้ว เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงด้านการผลิตและการใช้วัตถุดิบภายในภูมิภาค
6. การอำนวยความสะดวกด้านพิธีการด้านศุลกากร อาเซียนได้จัดทำความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว เมื่อปี 2548 (ค.ศ.2005) ซึ่งกำหนดให้สมาชิกอาเซียเดิม 6 ประเทศพัฒนาระบบ National Single Window : NSW ให้แล้วเสร็จภายในปี 2551(ค.ศ.2008) และประเทศ CLMV ภายในปี 2555(ค.ศ.2012) เพื่อเชื่อมโยงเป็นระบบ ASEAN Single Window ต่อไป ในส่วนของไทย กรมศุลกากรได้ดำเนินการระบบ NSW ในระยะที่ 1 โดยให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกรมศุลกากร ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศและธนาคาร (G2B และ B2B) แบบไร้เอกสารทั่วประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2551 (ค.ศ.2008) และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกรมศุลกากรกับหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตและใบรับรอง (G2G) 3 แห่ง ได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการในระยะที่ 2
7. การพัฒนามาตรฐานและความสอดคล้องของผลิตภัณฑ์ ได้จัดทำมาตรฐานการยอมรับร่วมสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว ในระยะต่อไปจะพัฒนาให้ครอบคลุมสินค้าอื่น ๆ ภายใต้การรวมกลุ่มสาขาสำคัญด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องมือแพทย์ ยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นต้น
8. การเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบวิชาชีพ แรงงานฝีมือและผู้มีความสามารถพิเศษ อยู่ระหว่างการพัฒนาจัดทำASEAN Business Card เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่นักธุรกิจภายในภูมิภาค และเร่งพัฒนามาตรฐานการยอมรับร่วมสำหรับบุคลากรในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ได้ทำข้อตกลงยอมรับร่วมในสาขาวิชาวิศวกรรม สาขาแพทย์ พยาบาล สถาปนิก นักบัญชีและคุณสมบัติผู้สำรวจแล้ว และอยู่ในระหว่างการพัฒนาในสาขาวิชาชีพอื่น ๆ เช่น นักกฎหมาย เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบวิชาชีพของผู้เชี่ยวชาญและแรงงานฝีมือภายในอาเซียน
9. การอำนวยความสะดวกทางด้านการเดินทางภายในอาเซียน อยู่ระหว่างการปรับประสานกระบวนการ/พิธีการในการตรวจลงตราให้กับนักเดินทางต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในอาเซียน รวมทั้งการยกเว้นการตรวจลงตราให้กับผู้เดินทางสัญชาติอาเซียนที่เดินทางภายในอาเซียน
โครงสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
โครงสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ไปสู่การเป็นประชาคม
เศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ภายในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) ดังนี้
1. มีตลาดและฐานการผลิตเดียว
1.1 เคลื่อนย้ายสินค้าเสรี
-ลดอุปสรรคด้านภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี
-อำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร
-กำหนดมาตรฐาน/ความสอดคล้องด้านพิธีการศุลกากร
1.2 เคลื่อนย้ายบริการเสรี
-เปิดตลาดบริการโดยไม่มีเงื่อนไข
-ปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในกลุ่มสมาชิก
-ขจัดอุปสรรคทางการค้า
-จัดทำความตกลงและยอมรับในบริการวิชาชีพ
-จัดทำโครงการและแลกเปลี่ยนบุคลากรวิชาชีพ
1.3 เคลื่อนย้ายการลงทุนเสรี
-เปิดเสรีในทุก ๆ อุตสาหกรรม
-บริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอุตสาหกรรม
-สร้างความโปร่งใสในกฎระเบียบและขั้นตอนการลงทุน
-สนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนร่วมกัน
1.4 เคลื่อนย้ายเงินทุนเสรียิ่งขึ้น
-ผ่อนคลายข้อกีดกันการไหลเวียนเงินทุน
-ส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์
1.5 เคลื่อนย้ายแรงงานทักษะเสรี
-ยกเลิกการกีดกันการจ้างงาน
-ปรับมาตรฐานการศึกษาและการฝึกงาน
-สร้างความเข้าใจร่วมกันด้านการฝึกอบรมระดับอาชีวะ
2. มีความสามารถแข่งขันสูง
2.1 กรอบนโยบายการแข่งขัน
-ต่อต้านพฤติกรรมที่ต่อต้านการแข่งขัน
-สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายองค์กรดูแลการแข่งขัน

2.2 ทรัพย์สินทางปัญญา
-ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
-ให้ความรู้ด้านลิขสิทธิ์
-เป็นพันธมิตรกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง
2.3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
-ด้านการขนส่ง
-ด้านข้อมูลข่าวสาร
-ด้านพลังงาน
-ด้านการเงิน
2.4 ภาษี
-นโยบายภาษีร่วมหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซับซ้อน
-ความตกลงว่าด้วยภาษีซับซ้อนทางอาเซียน
2.5 พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
-ปรับประสานกรอบกฎหมายเกี่ยวกับการทำสัญญาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
-วิธีการระงับข้อพิพาท
3. สร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างสมาชิกอาเซียน
3.1 ลดช่องว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ
-จัดทำโครงการเพื่อลดช่องว่างระหว่างอาเซียนเดิมและสมาชิกใหม่ (CLMV) ภายใต้
โครงการ IAI
3.2 พัฒนา SMEs
-พัฒนาส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
4. ส่งเสริมการรวมกลุ่มอาเซียนเข้ากับประชาคมโลก
4.1 ประสานการดำเนินงานนโยบายเศรษฐกิจกับปะเทศนอกอาเซียน
-สร้างแนวทางการเจรจาเขตการค้าเสรีในภูมิภาค
-เสริมสร้างศักยภาพในการเจรจาเขตการค้าเสรีสองฝ่าย
-กำหนดท่าทีร่วมต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
4.2 เข้าร่วมเครือข่ายการผลิตและจัดจำหน่าย
-สร้างมูลค่าเพิ่ม ประสิทธิภาพการผลิตตลอดจนการวิจัยและพัฒนาเชิงพาณิชย์
-ใช้แนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการผลิตและการตลาด

กุญแจสำคัญสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015)
1. เจตนารมณ์ทางการเมือง
2. ความร่วมมือในการเคลื่อนย้ายทรัพยากร
3. การดำเนินการตามพันธกรณี
4. การเสริมสร้างขีดความสามารถและสร้างองค์กรให้เข้มแข็ง
5. การหารือระหว่างภาครัฐและเอกชน
กลยุทธ์ที่สำคัญในการดำเนินงาน
1. การรวมกลุ่มสาขาสำคัญ (12 สาขา)
2. พัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
3. พัฒนาทรัพยากรบุคคล
4. วิจัยและพัฒนา
ปัจจัยแห่งความสำเร็จของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ ปัจจัย คือ
1. ประเทศในกลุ่มสมาชิกต้องยึดมั่นในเป้าหมายร่วมกันอย่างจริงจังยอมเสียสละผลประโยชน์ของแต่ละประเทศสมาชิก เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมในระดับกลุ่มภูมิภาค
2. โครงสร้างพื้นฐานภายในภูมิภาค ได้แก่การเชื่อมโยงการสื่อสาร การคมนาคม การขนส่งเข้าด้วยกันเพื่อ
2.1 เคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ
2.2 เคลื่อนย้ายผู้คน
2.3 อำนวยความสะดวกจุดผ่านแดน
2.4 สร้างความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ เช่น ด้านพลังงาน ด้านการศึกษา เป็นต้น
3. นโยบายร่วมระดับภูมิภาค โดยเฉพาะนโยบายในด้านเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มความสามารถในการต่อรอง โดยแต่ละประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ และกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อตกลงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
4. กลไกการตัดสินใจ โดยประเทศสมาชิกจะต้องพิจารณาปรับปรุงรูปแบบการตัดสินใจจากระบบฉันทามติ (Consensus) เป็นระบบอื่น ๆ เช่น ระบบเสียงข้างมาก (Majority Vote) เป็นต้น
5. การสร้างสังคมกฎระเบียบ โดยประเทศสมาชิกจำเป็นต้องพัฒนาไปสู่สังคมกฎระเบียบ (Rule Based Society) และสร้างนโยบายการค้าและการลงทุน ให้สอดประสานในระบบภูมิภาค โดยใช้จุดแข็ง (Strength) ของแต่ละประเทศสมาชิกให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การขยายเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) และคู่เจรจา (Dialogue Partners of ASEAN)
นอกจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมีเขตการค้าเสรีอาเซียนแล้วยังจำเป็นจะต้องเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่เจรจาอื่น ๆ นอกเขตภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้อาเซียนมีความเข้มแข็ง และสร้างอาเซียนให้เป็นศูนย์กลางการรวมกลุ่มในภูมิภาคนี้ ปัจจุบันอาเซียนได้มีความตกลง FTA ในกรอบต่าง ๆ ดังนี้
1. คู่เจรจาปัจจุบันได้แก่กรอบอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ซึ่งเรียกว่า East Asia Free Trade Area หรือ EAFTA
2. คู่เจรจาในกรอบปัจจุบันอาเซียน+6 (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) เรียกว่า Comprehensive Economic Partnership in East Asia หรือ CEPEA
3. คู่เจรจาประเทศอื่น คือ สหรัฐอเมริกา แคนนาดา รัสเซีย และกลุ่มประเทศยุโรป (EU)
4. ความร่วมมือบางสาขากับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program-UNDP) และประเทศปากีสถาน
5. ความร่วมมือกับกลุ่มภูมิภาคอื่น ได้แก่ กลุ่มอ่าวรัฐอาหรับ (Gulf Cooperation Council-GCC) ประกอบด้วยประเทศ บาร์เรน กาตาร์ คูเวต โอมาน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรดส์ และกลุ่ม MERCOSUR หรือตลาดร่วมอเมริกาใต้ ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศอาเจนติน่า ปารากวัย บราซิล อุรุกวัย และเวเนซูเอล่า
6. สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian for Regional Cooperation-SAARE)
ซึ่งมี บังกาลาเทศ ภูฐาน มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา เป็นสมาชิก
ตารางที่ 11 ตารางสรุปผลการเจรจาระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา อาเซียน+3และอาเซียน+6
กรอบการเจรจา ว่าด้วยความตกลงเรื่อง วันที่ลงนาม วันที่มีผลใช้บังคับ
อาเซียน-จีน การค้าสินค้า
การค้าบริการ ชุดที่ 1
การลงทุน 29 พ.ย.47
14 ม.ค.50
5 ส.ค.52 20 ก.ค.48
1 ก.ค.50
ก.พ.53
อาเซียน-ญี่ปุ่น ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) 11 เม.ย.51 1 มิ.ย.52
อาเซียน-เกาหลีใต้ การค้าสินค้า 24 ส.ค.49 (ไทยเข้าร่วมลงนามในภายหลังเมื่อวันที่ 27 ก.พ.52) 1 พ.ค.52 มีผลบังคับใช้กับไทย 1 ต.ค.52
การค้าบริการ 21 พ.ย.50(ไทยเข้าร่วมลงนามในภายหลังเมื่อวันที่ 27 ก.พ.52) มีผลบังคับใช้กับไทย 1 มิ.ย.52
การลงทุน 2 มิ.ย.52 31 ต.ค.52
อาเซียน-อินเดีย การค้าสินค้า 13 ส.ค.52 ม.ค.53
อาเซียน - ออสเตรเลีย สินค้า/บริการ/การลงทุน 27 ก.พ.52 ม.ค.53
นิวซีแลนด์ - - -
แนวทางการปรับตัวการใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความสามารถของประเทศภายในกลุ่มแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสทางด้านการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคให้กว้างขวางขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีการลดอุปสรรคต่าง ๆ ลงเพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุนและแรงงานได้อย่างเสรี ย่อมส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นและหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่ผู้ประกอบการภายในประเทศจะต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยหลีกเลี่ยง-บรรเทาผลกระทบในเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ โดยแนวทางในการปรับตัวที่ภาคเอกชนสามารถนำมาใช้อาจพิจารณาได้ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ อาทิ
การปรับตัวในเชิงรุก ควรปรับตัวในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. ศึกษาแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใน AEC นำเข้าวัตถุดิบ สินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากแหล่งผลิตใน AEC ที่มีความได้เปรียบด้านราคา และคุณภาพ
2. การศึกษารสนิยมความต้องการใน AEC เพิ่มการขายในตลาดใหญ่ขึ้น และใช้ประโยชน์ Economy of scale
3. ดูความเป็นไปเรื่องการย้ายฐานผลิต มีความสามารถย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เหมาะสมเป็นแหล่งผลิต
4. หันมามอง CLMV โดยวิสัยทัศน์ใหม่ การใช้ CLMV เป็นฐานการส่งออกไปนอก AEC เพื่อใช้ประโยชน์จากสถานะ Least Developed Countries : LDCs
5. พัฒนาและปรับตัวระบบต่าง ๆ ของบริษัทให้ใช้ประโยชน์โลจิสติกส์ได้เต็มที่ การพัฒนาระบบ โลจิสติกส์ในภูมิภาค ทำให้สะดวกและถูกลง
6. ศึกษา เสาะหาความเป็นไปได้ การตั้งธุรกิจ ใช้แรงงานจาก AEC ฐานธุรกิจอยู่ที่ใดในอาเซียนซึ่งสามารถใช้แรงงานจาก AEC ทำให้แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ
7. การเปิดเจาะตลาดคู่ค้าของอาเซียนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางภาษีนำเข้ากว่าคู่แข่งอื่นนอกอาเซียน
การปรับตัวในเชิงรับ ควรปรับตัวในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. การเรียนรู้คู่แข่งขัน เมื่อเกิดคู่แข่งใหม่จากอาเซียน
2. ไม่ละเลยการลดต้นทุน ต้นทุนของคู่แข่งอาจต่ำลงเช่นกัน
3. เร่งเสริมจุดแข็ง ลดจุดอ่อน คู่แข่งจะเข้ามาถึงเขตแดนเมื่อไรก็ได้
4. ผูกมัดใจลูกค้าในทุกรูปแบบ บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมรองรับ หรือเคยผลิตส่งบริษัทแม่อาจถูกแย่งลูกค้าโดยคู่แข่งในประเทศอื่นที่ได้เปรียบกว่าในการเป็นฐานการผลิต
5. ต้องคิด “ทำอย่างไรให้เขาอยู่ (กับเรา)” เพื่อป้องกันการถูกแย่งแรงงานฝีมือ
6. เรียนรู้คู่แข่งทุกคน วิเคราะห์ SWOT นอกเหนือจากคู่แข่ง 9 ประเทศอาเซียนแล้ว ยังมีเพิ่มอีก 3 หรือ 6 ที่ต้องเรียนรู้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น