วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อาเซี่ยนบทที่4-6

<

บทที่ 4
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและข้อตกลงของอาเซียน
(ASEAN Economic Cooperation and Agreement)
เขตการค้าเสรีอาเซียน
(ASEAN Free Trade Area : AFTA)
ความเป็นมาของ AFTA
ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) จำนวน 6 ประเทศคือ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และไทยได้ร่วมกันประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ขึ้นเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2535 (ค.ศ. 1992) โดยการริเริ่มของท่านอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น ต่อมาประเทศเวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ได้เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่อีก 4 ประเทศ รวมเป็น 10 ประเทศ มีประชากรรวมกันประมาณ 600 ล้านคน
การดำเนินงานของ AFTA อยู่ภายใต้ความตกลง 2 ฉบับ คือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน (Framework Agreement on Enhancing ASEAN Economic Cooperation) และความตกลงว่าด้วยอัตราภาษีพิเศษที่เท่ากันสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน (Agreement on the Common Effective Preferential Tariff: CEPT) Scheme for the ASEAN Free Trade Area (AFTA) หรือเรียกความตกลงนี้ว่า CEPT
วัตถุประสงค์ของเขตการค้าเสรีอาเซียน มีดังนี้
1. เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าอาเซียน เพราะปัจจุบันการค้าในโลกเริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้น และมาตรการเจรจารอบอุรุกวัยภายใต้ WTO
2. เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะถ้ามาลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งก็สามารถส่งผลผลิตไปขายให้กับประเทศอื่นในอาเซียนได้โดยไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีในอัตราที่ต่ำมาก ประกอบกับอาเซียนมีประชากรรวมกันเกือบ 600 ล้านคน ถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก
3. เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรอง เนื่องจากแต่ละประเทศมีการค้าขายกับประเทศใหญ่ ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรปตะวันออก มีอำนาจการต่อรองน้อยแต่ถ้ารวมกันเป็นอาเซียนแล้วอำนาจการต่อรองก็จะมีมากขึ้น
4. เพื่อส่งเสริมให้การค้าในประเทศอาเซียนด้วยกันมีการขยายตัวมากขึ้นแทนการค้ากับประเทศ อื่น ๆ นอกอาเซียน

เป้าหมายของเขตการค้าเสรีอาเซียน มีดังนี้
1. กำหนดการลดภาษี
1.1 สินค้าเร่งลดภาษี (Fast Track) จะต้องลดภาษี เหลือร้อยละ 0.5 ภายในเวลากำหนด
- สมาชิกเดิมภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2543 (ค.ศ.2000)
- สมาชิกใหม่ภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007)
1.2 สินค้าลดภาษีปกติ (Normal Track) จะต้องลดภาษีเหลือร้อยละ 0.5 ภายในเวลาที่กำหนด
- สมาชิกเดิมภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2546 (ค.ศ.2003)
- สมาชิกใหม่ภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2553 (ค.ศ.2010)
2. เงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์จากการค้าเสรีอาเซียน
2.1 ต้องเป็นสินค้าที่มีอยู่ในบัญชีลดภาษีหรือ Inclusion List (IL) ของประเทศผู้ส่งออกและ
นำเข้า
2.2 เป็นสินค้าที่มีการผลิตในประเทศอาเซียนประเทศใดประเทศหนึ่งหรือมากกว่า 1
ประเทศ รวมกันแล้วคิดเป็นมูลค่าอย่างน้อยร้อยละ 40 ของมูลค่าสินค้าโดยนำกฎว่าด้วย
แหล่งกำเนิดสินค้าแบบสะสมบางส่วน (Partial Cumulation) มาใช้
2.3 อาเซียนได้เริ่มนำกฎการแปลงสภาพอย่างเพียงพอ (Substantial Transformation)
มาใช้ โดยในกรณีที่มีประเทศที่เกี่ยวข้องกับการผลิตมากกว่า 1 ประเทศ จะถือว่าสินค้ามีแหล่งกำเนิดจากประเทศสุดท้ายที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเกิดขึ้น
3. ยกเลิกมาตรการที่มีใช้ภาษี
3.1 ยกเลิกมาตรการจำกัดปริมาณนำเข้า
3.2 ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ
3.3 ยกเลิกอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีในอาเซียนโดยใช้กระบวนการแจ้งข้ามประเทศ
(Cross Notification)
ตารางที่ 5 ตารางแสดงเป้าหมายการลดภาษีภายใต้เขตการค้าเสรี
ปี สมาชิกเก่า สมาชิกใหม่
พ.ศ.2546 (ค.ศ.2003) ลดภาษีเหลือ 0% ร้อยละ 60 ของ IL เวียดนามลดภาษีเหลือ 0.5 % ให้มากที่สุด
พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) ลดภาษีเหลือ 0% ร้อยละ 80 ของ IL ลาวและพม่าลดภาษีเหลือ 0.5 % ให้มากที่สุด
พ.ศ.2553 (ค.ศ.2010) ลดภาษีเหลือ 0% ร้อยละ 100 ของ
IL กัมพูชาและพม่าลดภาษีเหลือ 0.5 % ให้มากที่สุด
พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) - ลดภาษีเหลือ 0% ร้อยละ 100 ของ
IL

*IL (Inclusion List) = บัญชีลดภาษี
ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน
(ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA)
สมาชิกอาเซียนเห็นชอบที่จะปรับปรุงความตกลง CEPT เดิมให้มีความทันสมัย ทัดเทียมกับกฎเกณฑ์ทางการค้าในระดับสากลเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยได้ปรับกฎเกณฑ์ทางการค้าทั้งด้านมาตรการภาษีและที่มิใช่ภาษีให้ชัดเจนและรัดกุมมากขึ้น นำหลักการอื่น ๆ ที่ใช้อยู่ในสากลมารวมในความตกลงการค้าสินค้าระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาอื่น ๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิและพันธกรณีที่มีอยู่เดิม
ทั้งนี้สมาชิกอาเซียนได้เริ่มเจรจาเกี่ยวกับการจัดทำความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 (ค.ศ.2006) จนได้ข้อสรุปและรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามความตกลงไปในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 (ค.ศ.2009) ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
สาระสำคัญของความตกลง ATIGA
ความตกลง ATIGA ครอบคลุมมาตรการที่สำคัญต่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าอย่างเสรีระหว่างประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ตารางการลดภาษีตามพันธกรณีของอาฟตา การกำหนดให้ใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากรได้เฉพาะเรื่องที่จำเป็น การส่งเสริมให้มีการอำนวยความสะดวกทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน หลักปฏิบัติด้านศุลกากรโดยอิงหลักการสากล หลักเกณฑ์ในการใช้มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค กระบวนการตรวจสอบและรับรองมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และมาตรการเยียวยาทางการค้า
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
ความตกลงฉบับนี้จะช่วยจัดระบบเขตการค้าอาเซียนให้เป็นระบบที่อิงกฎระเบียบมากขึ้น ใช้งานง่ายยิ่งขึ้น มีความโปร่งใส เพราะกฎเกณฑ์ต่าง ๆ กำหนดชัดเจน สะดวกต่อการตรวจสอบพันธกรณีของประเทศสมาชิก ทำให้มั่นใจว่ามีความสอดคล้องกับความตกลงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้าส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในทุกภาคส่วน
เขตการลงทุนอาเซียน
(Framework Agreement on the ASEAN Investment Area : AIA)
อาเซียนได้ลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยเขตการลงทุนอาเซียน (Framework Agreement on the ASEAN Investment Area: AIA) ในปี 2541 (ค.ศ.1998) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาเซียนเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุน ทั้งจากภายในและภายนอกอาเซียนและมีบรรยากาศการลงทุนที่เสรีและโปร่งใส ทั้งนี้จะครอบคลุมเฉพาะการลงทุนโดยตรงในสาขาการผลิต เกษตร ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ และบริการที่เกี่ยวข้องกับ 5 สาขาดังกล่าว (Services Incidental) แต่ไม่รวมการลงทุนในหลักทรัพย์ (Securities Investment)
เป้าหมาย
อาเซียนเดิม 6 ประเทศมีเป้าหมายเปิดเสรีการลงทุนและให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) แก่นักลงทุนอาเซียน ภายในปี พ.ศ.2553 (ค.ศ.2010) และสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ (CLMV) ภายในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015)
หลักการที่สำคัญภายใต้ AIA
1. หลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment : NT) หมายถึง ประเทศสมาชิกจะต้องให้
การปฏิบัติต่อนักลงทุนอาเซียนเท่าเทียมกับที่ปฏิบัติต่อนักลงทุนที่เป็นคนชาติตน ทั้งนี้นักลงทุนอาเซียนหมายถึง บุคคลธรรมดาที่เป็นคนชาติ (National) ของประเทศสมาชิกอาเซียน หรือนิติบุคคลใดของสมาชิกอาเซียนที่ลงทุนในประเทศสมาชิกอื่น โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นของคนชาติอาเซียนรวมกันแล้วอย่างน้อยที่สุดเท่ากับสัดส่วนขั้นต่ำที่กำหนดให้เป็นหุ้นคนชาติและสัดส่วนการถือหุ้นประเภทอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายภายในและนโยบายของชาติ ที่มีการพิมพ์เผยแพร่ของประเทศที่รับการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนนั้น ๆ
2. หลักการว่าด้วยการเปิดตลาด (Opening-up of Industries) หมายถึง ประเทศสมาชิกจะต้องเปิดเสรีทุกอุตสาหกรรมแก่นักลงทุนสัญชาติอาเซียนแต่มีข้อยกเว้นได้โดยประเทศสมาชิกจะต้องยื่นรายการประเภทกิจการที่ขอยกเว้นชั่วคราว (Temporary Exclusion List: TEL) และรายการประเภทกิจการที่มีความอ่อนไหว (Sensitive List: SL) ได้แต่ต้องมีการทบทวนเพื่อยกเลิกรายการดังกล่าว


ความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน
(ASEAN Comprehensive Investment Agreement : ACIA)
ปัจจุบันอาเซียนได้ทบทวนความตกลง AIA ให้ผนวกกับความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Agreement for the Promotion and Protection of Investment) ที่มีอยู่เดิมเป็นความตกลงด้านการลงทุนฉบับใหม่ของอาเซียนที่เรียกว่า ACIA (ASEAN Comprehensive Investment Agreement) ซึ่งเป็นการปรับปรุงความตกลงเดิมให้ทันสมัย ครอบคลุม และทัดเทียมกับกฎเกณฑ์การลงทุนในระดับสากล
สาระสำคัญของความตกลง
1. ความตกลง ACIA มีขอบเขตกว้างขวางกว่าการตกลงเขตการลงทุนอาเซียนที่มีอยู่เดิม กล่าวคือ ครอบคลุมขั้นตอนการลงทุนตั้งแต่การส่งเสริมและการอำนวยความสะดวกการเปิดเสรีเพื่อให้เข้ามาลงทุน และการคุ้มครองการลงทุนโดยรวมทั้งการลงทุนทางตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์
2. ในด้านการเปิดเสรีการลงทุนจะครอบคลุมภาคการผลิต เกษตร ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่และบริการที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีพันธกรณีสำคัญ คือ การปฏิบัติต่อการลงทุนจากนิติบุคคลอาเซียน และนิติบุคคลต่างชาติที่จดทะเบียนในอาเซียน เทียบเท่ากับการลงทุนของบุคคลหรือนิติบุคคลของประเทศตน เทียบเท่ากับการปฏิบัติต่อประเทศที่สาม รวมถึงไม่กำหนดเงื่อนไขบังคับในการลงทุน โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกทำข้อสงวนสาขาที่ไม่ต้องการเปิดเสรีไว้ในตารางข้อผูกพันโดยไม่ต้องมีการเจราต่อรอง
3. ในด้านการคุ้มครองการลงทุน จะครอบคลุมภาคการผลิต เกษตร ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ และบริการที่เกี่ยวเนื่อง นอกจากนี้ยังรวมถึงการลงทุนในธุรกิจบริการภายใต้กรอบความตกลงด้านบริการอาเซียนด้วย โดยมีพันธกรณีสำคัญ คือ ปฏิบัติต่อนักลงทุนและการลงทุนอย่างเป็นธรรม ให้การชดเชยในกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ หรือในกรณีที่มีการเวนคืน กำหนดขั้นตอนการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ และระหว่างรัฐกับนักลงทุน
ประโยชน์ของ ACIA
ความตกลงนี้จะช่วยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการลงทุนระหว่างกันในอาเซียน ซึ่งจะนำไปสู่การไหลเข้าของเงินลงทุนใหม่และการนำผลกลับมาลงทุนใหม่แบบยั่งยืน นอกจากนี้ นักลงทุนและการลงทุนของไทยจะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกับคนชาติในประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและส่งเสริมการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนมากขึ้น

ความตกลงด้านการค้าบริการของอาเซียน
(ASEAN Framework Agreement on Services : AFAS)
ความเป็นมา
ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 5 เดือนธันวาคม พ.ศ.2538 (ค.ศ.1995) ที่กรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ลงนามในความตกลงว่าด้วนการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) ซึ่งกำหนดให้เจรจาเปิดการค้าเสรีบริการโดยการจัดทำข้อผูกพันในด้านการเปิดตลาด (Market Access) การให้ปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) และด้านอื่น ๆ (Additional Commitments) สำหรับบริการ 7 สาขา ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 (ค.ศ.1996) ได้แก่
1. การขนส่งทางอากาศ
2. การขนส่งทางทะเล
3. โทรคมนาคม
4. การก่อสร้าง
5. การเงิน
6. การท่องเที่ยว
7. ธุรกิจวิชาชีพ
วัตถุประสงค์ของ AFAS
1. ขยายความร่วมมือในด้านบริการบางสาขาที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับสมาชิก
อาเซียนมากขึ้น
2. ลดอุปสรรคด้านการค้าระหว่างสมาชิก
3. เปิดตลาดการค้าบริการระหว่างกลุ่มให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดเสรีอย่างเต็มที่ในปี
พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015)
หลักการสำคัญของ AFAS
หลักการสำคัญของความตกลงด้านการค้าบริการของอาเซียน (AFAS) มีดังนี้
1. สมาชิกทุกประเทศต้องเข้าร่วมเจรจาเป็นรอบ รอบละ 3 ปี ซึ่งภายหลังได้ลดเหลือรอบละ 2 ปีแทนเพื่อทยอยการผูกพันการเปิดตลาดให้มากขึ้นทั้งสาขา (Sector) และรูปแบบให้บริการ (Mode of Supply) รวมถึงลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ให้บริการในกลุ่มสมาชิก
2. แต่ละประเทศสมาชิกยังมีสิทธิในการออกกฎระเบียบภายในประเทศของตนเพื่อกำกับดูแลธุรกิจ
บริการให้มีคุณภาพได้
3. ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องเปิดตลาดธุรกิจบริการให้แก่กันมากกว่าที่แต่ละประเทศได้มีข้อตกลง
ไว้กับองค์การค้าโลก (WTO)
ผลการเจรจาในแต่ละรอบที่ผ่านมา มีดังนี้
1. การเจรจารอบแรก (พ.ศ.2539-2541) และรอบสอง (พ. ศ.2542-2544) มุ่งเป็นการเปิดเสรีใน 7
สาขา
2. การเจรจารอบสาม (พ.ศ.2545-2547) และรอบสี่ (พ.ศ.2548-2549) เป็นการขยายขอบเขตการ
เจรจาเปิดเสรีทุกสาขาบริการทั้ง 7 สาขา และเปิดตลาดการค้าบริการตามหลักการ ASEAN-X ด้วย คือประเทศสมาชิกตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไปมีความพร้อมที่จะเปิดเสรีสาขาบริการใดให้แก่กันก็สามารถทำได้ก่อน
3. การเจรจารอบห้า (พ.ศ.2551) และรอบหก (พ.ศ.2552-2553) เป็นการเจรจาในเชิงลึกและจัดทำ
ข้อผูกพันการเปิดการค้าบริการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเปิดตลาดในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015)
นอกเหนือจากการเปิดตลาดการค้าบริการในกรอบของ AFAS สมาชิกยังต้องเร่งรัดเปิดตลาดในสาขาบริการที่เป็นสาขาบริการสำคัญ (Priority Sectors) 5 สาขา ได้แก่
1. สาขาโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายใน พ.ศ.2553 (ค.ศ.2010)
2. สาขาสุขภาพ ภายใน พ.ศ.2553 (ค.ศ.2010)
3. สาขาการท่องเที่ยว ภายใน พ.ศ.2553 (ค.ศ.2010)
4. สาขาการบิน ภายใน พ.ศ.2553 (ค.ศ.2010)
5. สาขาบริการโลจิสติกส์ ภายใน พ.ศ.2556 (ค.ศ.2013)




ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน
(ASEAN Industrial Cooperation : AICO)
ภายใต้ความร่วมมือโครงการ AICO (ASEAN Industrial Cooperation: AICO) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของอาเซียนและการสนับสนุนการแบ่งการผลิตภายในอาเซียน รวมถึงการใช้วัตถุดิบภายในภูมิภาค
เงื่อนไขการดำเนินการ
1. ผู้ประกอบการอย่างน้อย 1 รายในประเทศอาเซียนประเทศหนึ่งร่วมมือกับผู้ประกอบการอีกอย่างน้อย 1 ราย ในอีกประเทศอาเซียนหนึ่ง (สามารถมีประเทศเข้าร่วมโครงการได้มากกว่า 2 ประเทศ) ยื่นคำร้องขอรับสิทธิประโยชน์ภายใต้ AICO ต่อหน่วยงานที่แต่ละประเทศกำหนด ซึ่งในส่วนของไทยคือ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
2. ต้องมีหุ้นคนชาติที่บริษัทนั้นตั้งอยู่อย่างน้อยร้อยละ 30
3. ต้องชี้แจงเหตุผลว่าจะร่วมมือกันอย่างไร
สิทธิประโยชน์
1. ในปี พ.ศ.2548 (ค.ศ.2005) สินค้าและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตภายใต้โครงการ AICO เสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 0
2. สินค้านั้นได้รับการยอมรับเสมือนเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ
3. สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษีได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของประเทศที่ให้สิทธิประโยชน์
4. ไม่ถูกจำกัดด้วยระบบโควตาหรือมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี







ความร่วมมือทางด้านการศึกษาของอาเซียน
(ASEAN Cooperation in Education : ACE)
1. เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network-AUN)
เป็นความร่วมมือทางการศึกษาของอาเซียนในระดับอุดมศึกษาในกรอบของอาเซียน สาเหตุที่ต้องเป็นระดับอุดมศึกษา เพราะในอาเซียนนอกจากสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการแล้ว ประเทศอื่น ๆ ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ดังนั้นกิจกรรมความร่วมมือในกรอบอาเซียนจึงไม่สามารถจัดในระดับต่ำกว่าระดับอุดมศึกษาได้เพราะจะเป็นปัญหาในเรื่องภาษาอังกฤษ
AUN ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2538 (ค.ศ.1995) ตามมติของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 4 เดือนมกราคม พ.ศ.2535 (ค.ศ.1992) ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอัตลักษณ์อาเซียนและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่แล้ว ดังนั้น AUN จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้บรรลุผลสำเร็จและโดยอำนาจหน้าที่ของกฎบัตรอาเซียนและบันทึกข้อตกลงในการจัดตั้ง AUN คือ
1. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักปราชญ์ นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ในภูมิภาค
2. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิชาการและอาชีพในภูมิภาค
3. ส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศระหว่างชุมชนนักวิชาการอาเซียน
สมาชิกของ AUN เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศสมาชิก กฎระเบียบต่าง ๆ จึงมีความเคร่งครัดเป็นอย่างมาก และมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมจะต้องเป็น Active Participants ซึ่งประกอบด้วยรายชื่อมหาวิทยาลัย ดังต่อไปนี้







ตารางที่ 6 ตารางแสดงรายชื่อมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก AUN
ลำดับที่ ชื่อมหาวิทยาลัย ประเทศ
1 Universiti Brunei Darussalam
Brunei Darussalam
2 Burapha University
Thailand
3 Chulalongkorn University
Thailand
4 De La Salle Universiti
Philippines
5 The Gadjah Made University
Indonesia
6 Universitas Indonesia
Indonesia
7 Universiti Malaysia
Malaysia
8 Universiti Sains Malaysia
Malaysia
9 University of the Philippines
Philippines
10 University of Yangon
Myanmar
11 Vietnam National University, Hanoi
Vietnam
12 Vietnam Nation University,Ho Chi Minh City
Vietnam
13 Royal University of Law and Economics
Cambodia
14 Institut Teknologi Bandung
Indonesia
15 Yangon Institute of Economics
Myanmar
16 Nanyang Tecnological University
Singapore
17 National University of Laos
Loa PDR
18 National University of Singopore
singapore
19 Rayol Univerity of Phnom Penh
Cambodia
20 Universiti Kabangsaan Malaysia
Malaysia
21 Ateneo de Manila University
Philippines
22 Mahidol University
Thailand
23 Airlangga University
Indonesia
24 Universiti Putra Malaysia
Malaysia
25 Singapore Management University
Singapore
26 Chiang Mai University
Thailand

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 (ค.ศ.1995) เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนเป็นที่ยอมรับในบทบาทที่เด่นชัดในการเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญและทำงานอย่างหนักเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้สำเร็จในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015)
AUN ได้ดำเนินการประสบความสำเร็จด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ส่งเสริมโปรแกรมอาเซียนศึกษาในภูมิภาค
2. ส่งเสริมความรู้สึกในอัตลักษณ์ของภูมิภาคในระหว่างเยาวชนในอาเซียน
3. ส่งเสริมการยอมรับในคุณวุฒิวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยในภูมิภาค
4. สนับสนุนความร่วมมือด้านงานวิจัยและสร้างเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศในกิจกรรมที่อยู่ในลำดับความสำคัญเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของอาเซียนเพื่อบูรณาการอย่างใกล้ชิดในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
กิจกรรมที่ AUN ได้ดำเนินการ มีดังนี้
1. โปรแกรมอาเซียนศึกษา (ASEAN Study Programme) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ อัตลักษณ์ และความร่วมมือระดับอุดมศึกษา
2. การประชุมด้านการศึกษาของ AUN และการแข่งขันการพูดของเยาวชน (AUN Education Forum and Young Speakers Contest) มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาอาเซียนแบ่งปันและรับความรู้ ค่านิยมและทัศนคติระหว่างกัน เพื่อจัดหาเวทีให้เยาวชนอาเซียนได้แสดงออกความคิดและทัศนคติเกี่ยวกับประเด็นปัญหาของอาเซียนและเสริมสร้างเครือข่ายมิตรภาพของเยาวชน
3. การประชุมด้านวัฒนธรรมของเยาวชนอาเซียน (ASEAN Youth Cultural Forum) เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนอาเซียนที่มีความสามารถทางด้านการเต้นรำ ดนตรี และร้องเพลงได้แสดงออกและสร้างเครือข่ายเยาวชน
4. โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน (AUN Student Exchange Programme) เพื่อเป็นการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายนักศึกษาในภูมิภาค สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือและสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการและนักเรียนในอาเซียน
5. โครงการแลกเปลี่ยนคณาจารย์/ผู้เชี่ยวชาญของ AUN (AUN Distinguished Scholars Programme) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายและสร้างเครือข่ายระหว่าคณาจารย์/ผู้เชี่ยวชาญ โดยเปิดโอกาสให้คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยไปแลกเปลี่ยนการสอนให้มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก AUN เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้ส่งและผู้รับคณาจารย์/ผู้เชี่ยวชาญ
6. ความร่วมมือด้านการวิจัย (Collaborative Research) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการทำวิจัยในอาเซียนเพื่อหาข้อสรุปในประเด็นที่เป็นปัญหาของภูมิภาคและสนับสนุนการตัดสินใจในสาขาที่ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนให้ความสำคัญ
7. การสร้างเครือข่ายสารสนเทศของ AUN (AUN Information Networking) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเผยแพร่และความร่วมมือระหว่างสมาชิกเพื่อสร้างและพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลออนไลน์ในมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก
8. การประกันคุณภาพการศึกษาของ AUN (AUN Quality Assurance-AUN-QA) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาในฐานะเป็นเครื่องมือในการรักษาและปรับปรุงการวิจัยด้านการสอนและมาตรฐานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของ AUN
9. เครือข่ายบัณฑิตสาขาธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ของ AUN (AUN Graduate Business and Economics Programme Network: AGBEP Network) มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาคุณภาพของบัณฑิตในสาขาดังกล่าวที่จัดสอนในมหาวิทยาลัยสมาชิก AUN
10. การประชุมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเครือข่าย AUN (AUN Rectors’ Meeting) มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาระหว่างผู้บริหารระดับผู้กำหนดนโยบายของมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน
2. ศูนย์กลางทางการศึกษา (Education Hub)
ศูนย์กลางทางการศึกษา หมายถึง การจัดตั้งศูนย์กลางทางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียนโดยกำหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้เพราะเมื่ออาเซียนได้รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว เยาวชนจะต้องปรับตัวให้เป็นเยาวชนของอาเซียนโดยมีการศึกษาเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งชนชั้น สีผิวและศาสนา

ความแตกต่างของแต่ละประเทศของสมาชิกอาเซียนที่เยาวชนของแต่ละประเทศสมาชิกจะต้องปรับตัว พอสรุปได้ดังนี้
1. ด้านภาษา
2. ด้านศาสนาและวัฒนธรรม
3. ด้านสังคม
4. ด้านเศรษฐกิจ
5. ด้านการเมืองและการปกครอง
6. ด้านการศึกษา
7. ด้านเชื้อชาติ
การดำเนินการปรับปรุงศูนย์กลางการศึกษา มีดังนี้
1. ปรับปรุงศูนย์การพัฒนาอัจฉริยภาพ (Resource Center)
2. ทุกโรงเรียนมีศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพ เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัย ครบวงจร มีมุมเรียนรู้ มุม
สืบค้น มุมเรียนรู้ด้วยตนเอง และ Entertainment
3. จัดรูปแบบโรงเรียน 3 รูปแบบ
3.1 ใช้หลักสูตรต่างประเทศ สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้
3.2 ใช้หลักสูตรพหุภาษา ใช้หลักสูตรกระทรวงศึกษาเพิ่มเติม IT และภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษา
อาเซียน
3.3 โรงเรียนวิทย์-คณิต 2 ภาษา เสริมวิชา อาเซียนศึกษา IT และจัดการเรียนการสอน
ภาษาอังกฤษ
4. สนับสนุนสื่อการสอนต่างประเทศให้ทันสมัยและสอดคล้องกับหลักสูตร
5. พัฒนาผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถจัดการแบบองค์กรใหม่
6. พัฒนาครูในโรงเรียนให้เข้าโครงการโดยพัฒนากลุ่มสาระต่าง ๆ
7. พัฒนารอง ผอ.สพฐ ศึกษานิเทศก์ ที่รับผิดชอบโครงการ
8. ติดตามและประเมินผลโครงการ
9. จัดนิทรรศการ ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

บทที่ 5
กลไกการระงับข้อพิพาทของอาเซียน
(ASEAN Protocol on Enhanced Dispute Settlement Mechanism)
กระบวนการระงับข้อพิพาทของอาเซียน
กลไกการระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่เดิมนั้นได้มีการปรับปรุง ให้มีความเหมาะสมและชัดเจนยิ่งขึ้น โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ได้ลงนามในพิธีสารว่าด้วยกลไกการระงับข้อพิพาทของอาเซียนฉบับใหม่ (ASEAN Protocol on Enhanced Dispute Settlement Mechanism) เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2547 (ค.ศ.2004) ณ กรุงเวียงจันทร์ ประเทศสาธารณะประชาธิปไตยประชาชนลาว
สาระสำคัญของสารว่าด้วยกลไกการระงับข้อพิพาทของอาเซียนฉบับใหม่มีสาระสำคัญ คือ ประเทศสมาชิกอาเซียนมีสิทธิ์ใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทฉบับใหม่ของอาเซียนได้ เมื่อเห็นว่าประเทศสมาชิกอื่นใช้มาตรการที่ขัดต่อข้อตกลงของอาเซียน ในขั้นแรก คือ การหารือกับประเทศสมาชิกคู่กรณี หากไม่สามารถตกลงกันได้ ขั้นต่อไปสามารถขอจัดตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) เพื่อประท้วงการตัดสินคดี ซึ่งถ้าหากคำตัดสินของคณะผู้พิจารณายังไม่เป็นที่พอใจ ประเทศที่เป็นฝ่ายโจทย์ในคดีสามารถยื่นอุทธรณ์ได้โดยให้องค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) เป็นผู้พิจารณาประเทศสมาชิกที่เป็นฝ่ายแพ้คดี ต้องปฏิบัติตามคำตัดสินของคณะผู้พิจารณาหรือองค์กรอุทธรณ์อีกทั้งยังต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการพิจารณาคดีด้วย โดยการดำเนินการแต่ละขั้นตอนต้องอยู่ภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้คือต้องไม่เกิน 445 วัน









แผนผังกระบวนการระงับข้อพิพาทของอาเซียน





















ระบบการระงับข้อพิพาทอื่นๆ ของอาเซียน
นอกจากนั้นอาเซียนยังได้ปรับปรุงกลไกการดำเนินงานให้มีระบบการระงับข้อพิพาทอื่น ทั้งในลักษณะของการให้คำปรึกษาหรือชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนี้
1. จัดตั้งหน่วยงานด้านกฎหมาย (ASEAN Legal Unit) ขึ้น ณ สำนักเลขาธิการอาเซียนกรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อให้คำปรึกษาหารือและการตีความกฎหมายและความตกลง/พิธีสารฉบับต่าง ๆ ของอาเซียน
2. จัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุนของอาเซียนทางอินเทอร์เน็ต (ASEAN Consultations to Solve Trade and Investment Related Issues-ACT) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุนของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยวิธีการติดต่อประสานงานทางอินเทอร์เน็ต เป็นการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง โดย National AFTA Unit ของไทย คือ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรับผิดชอบในฐานะเป็น ACT Focal Point และติดต่อได้ที่ Thailand_act@dth.go.th
3. จัดตั้งคณะผู้ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของอาเซียน (ASEAN Compliance Body-ACB) เพื่อกำกับดูแลให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามพันธะกรณีต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างจริงจัง โดยสมาชิกอาเซียนมีสิทธิแต่งตั้งผู้แทน ACT ได้ประเทศละ 1 คน สำหรับไทยได้แต่งตั้งอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นผู้แทนใน ACB









บทที่ 6
ประชาคมอาเซียน
(ASEAN Community)
ความเป็นมา
ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) คือ การให้ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมตัวเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกัน ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศซึ่งมีประชาชนรวมกันประมาณ 600 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นประชาคมที่มีขนาดใหญ่มาก ดังนั้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2546 (ค.ศ.2003) ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนที่เรียกว่า ข้อตกลงบาหลี 2 (Bali Concord II) โดยเห็นชอบให้จัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ให้เสร็จภายในปี พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020) แต่เนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนและประเทศอินเดียสูงมากและทั้งสองประเทศมีประชากรมากทำให้การแข่งขันทางเศรษฐกิจมีความรุนแรงจึงทำให้การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี พ.ศ.2552 (ค.ศ.2009) ผู้นำอาเซียนจึงได้ลงนามรับรองปฏิญญา ชะอำ-หัวหิน ว่าด้วยแผนการจัดตั้งประชาคมอาเซียน 2009-2015 เพื่อจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้เสร็จภายในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015)











ตารางที่ 7 ตารางแสดงรายชื่อประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวนประชากรและปีที่เป็นสมาชิก
ลำดับที่ ชื่อประเทศ จำนวนประชากร
(ล้านคน) ปีที่เป็นสมาชิก
พ.ศ. (ค.ศ.)
1 ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand) 67.36 2510 (1967)
2 มาเลเซีย (Malaysia) 27.47 2510 (1967)
3 สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia) 231.37 2510 (1967)
4 สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (The Republic of the Philippines) 92.22 2510 (1967)
5 สาธารณรัฐสิงคโปร์ (The Republic of the Singapore) 5.08 2510 (1967)
6 บรูไนดารุสซาลาม (Brunei Darussalam) .41 2527 (1984)
7 สาธารณรัฐสังคมเวียดนาม (The Socialist Republic of Vietnam) 90.55 2538 (1995)
8 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (The Lao People’s Democratic Republic of Lao : PDR ) 6.84 2540 (1997)
9 สหภาพพม่า (Union of Myanmar) 50.52 2540 (1997)
10 ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia ) 14.81 2542 (1999)
รวมประชากร 586.63

สามเสาหลักประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย
1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political Security Community : APSC)
2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)
3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC)
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political Security Community: APSC)
มีวัตถุประสงค์จะให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีระบบการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกันด้วยดี มีเสถียรภาพรอบด้าน มีกรอบความร่วมมือเพื่อรองรับภัยคุกความความมั่นคงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียนจึงต้องดำเนินการโดย
1. ใช้เอกสารทางการเมืองและกลไกของอาเซียนที่มีอยู่แล้วในการเพิ่มศักยภาพในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในภูมิภาครวมทั้งการต่อต้านการก่อการร้าย การลักลอบค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติอื่น ๆ และการขจัดอาวุธที่มีศักยภาพทำลายล้างสูง
2. ริเริ่มกลไกใหม่ ๆ ในการเสริมสร้างความมั่นคงและกำหนดรูปแบบใหม่สำหรับความร่วมมือในด้านนี้ ซึ่งรวมไปถึงการกำหนดมาตรฐานในการป้องกันการเกิดข้อพิพาทและการส่งเสริมสันติภาพหลังจากการเกิดข้อพิพาท
3. ส่งเสริมความร่วมมือความมั่นคงทางทะเล ซึ่งอาเซียนยังไม่มีความร่วมมือด้านนี้
ทั้งนี้ความร่วมมือข้างต้นจะไม่กระทบต่อนโยบายต่างประเทศ และความร่วมมือทางทางทหารของประเทศสมาชิกและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)
มีวัตถุประสงค์ให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างสมาชิกด้วยกัน เพื่อให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่นคงและสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้และเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชากรในประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1. เพื่อให้เกิดการไหลเวียนอย่างเสรีในสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน การพัฒนาเศรษฐกิจ และลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมภายในปี พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020)
2. ทำให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว (Single Market and Production Base)
3. ให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกใหม่ของอาเซียนเพื่อลดช่องว่างในการพัฒนาและช่วยในกระบวนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน
4. ส่งเสริมความร่วมมือในนโยบายทางด้านการเงินและเศรษฐกิจมหาภาคและตลาดทุน การประกันภัย การภาษีอากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ด้านกฎหมาย พลังงาน เกษตร การท่องเที่ยว การศึกษา และการพัฒนาฝีมือแรงงาน
ประชาคมสังคม - วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)
มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเอื้ออาทร มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี และได้รับการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ดังนี้
1. การพัฒนาสังคมโดยการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่อาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดาร
2. การพัฒนาอบรมด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านเทคโนโลยี การสร้างงาน และคุ้มครองทางสังคม
3. ส่งเสริมความร่วมมือทางด้านสาธารณสุข ได้แก่ การป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดต่อ
4. การขจัดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
5. ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเขียน นักคิด และศิลปินในภูมิภาค

ตารางที่ 8 ตารางแสดงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ระหว่าง พ.ศ.2519-2553)
ครั้งที่ วันที่ ประเทศเจ้าภาพ สถานที่จัดตั้งการประชุม
ครั้งที่ 1 23-24 กุมภาพันธ์ 2519 (ค.ศ.1976) ประเทศอินโดนีเซีย บาหลี
ครั้งที่ 2 4-5 สิงหาคม 2520 (ค.ศ.1977) ประเทศมาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์
ครั้งที่ 3 14-15 ธันวาคม 2530 (ค.ศ.1987) ประเทศฟิลิปปินส์ มะนิลา
ครั้งที่ 4 27-29 มกราคม 2535 (ค.ศ.1992) ประเทศสิงคโปร์ สิงคโปร์
ครั้งที่ 5 14-15 ธันวาคม 2538 (ค.ศ.1995) ประเทศไทย กรุงเทพมหานคร
ครั้งที่ 6 15-16 ธันวาคม 2541 (ค.ศ.1998) ประเทศเวียดนาม ฮานอย
ครั้งที่ 7 5-6 พฤศจิกายน 2544 (ค.ศ.2001) ประเทศบรูไนดารุสซาลาม บันดาร์เสรีเบการ์วัน
ครั้งที่ 8 4-5 พฤศจิกายน 2545 (ค.ศ.2002) ประเทศกัมพูชา พนมเปญ
ครั้งที่ 9 7-8 ตุลาคม 2546 (ค.ศ.2003) ประเทศอินโดนีเซีย บาหลี
ครั้งที่ 10 29-30 พฤศจิกายน 2547 (ค.ศ.2004) ประเทศลาว เวียงจันทร์
ครั้งที่ 11 12-14 ธันวาคม 2548 (ค.ศ.2005) ประเทศมาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์
ครั้งที่ 12 11-14 มกราคม 2550 (ค.ศ.2007) ประเทศฟิลิปปินส์ เซบู
ครั้งที่ 13 18-22 พฤศจิกายน 2550 (ค.ศ.2007) ประเทศสิงคโปร์ สิงคโปร์
ครั้งที่ 14 27 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2552
10-11 เมษายน 2552 (ค.ศ.2009) ประเทศไทย ชะอำ,หัวหิน
พัทยา
ครั้งที่ 15 23-25 ตุลาคม 2552 (ค.ศ.2009) ประเทศไทย ชะอำ,หัวหิน
ครั้งที่ 16 8-9 เมษายน 2553 (ค.ศ.2010) ประเทศเวียดนาม ฮานอย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น